วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม

วันฉัตรมงคล (ภาษาอังกฤษ : Coronation Day) ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของไทย เนื่องจากมีการจัดพระราชพิธีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจสอดแทรกไว้อีกด้วยเช่นกัน ซึ่งวันฉัตรมงคล 2567 จะตรงกับวันไหน สำคัญอย่างไร อ่านได้ในบทความนี้

ประวัติ “วันฉัตรมงคล 2567” และความสำคัญวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี

วันฉัตรมงคล คือ วันอะไร

วันฉัตรมงคล คือ วันสำคัญในวัฒนธรรมประเพณีไทยที่จะมีการจัดพระราชพิธีขึ้น โดยสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายไว้ว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี 

พระราชพิธีดังกล่าวเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยตามธรรมเนียมเดิมจะเริ่มพิธีในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่ตรงกับครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล”

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบรมราชาภิเษกตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ไว้เช่นเดิม

ต่อมาในรัชกาลที่ 9 มีการกำหนด “วันฉัตรมงคล” ไว้ในวันที่ 5 พฤษภาคม แต่ในรัชกาลที่ 10 มีการกำหนดวันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 ซึ่งในทุกปี วันฉัตรมงคลจึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปีนั่นเอง

วันฉัตรมงคล มีความสำคัญอย่างไร

วันฉัตรมงคลถือเป็นวันสำคัญที่เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้าจะต้องทำหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ ตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา รวมถึงจัดพิธีสวดมนต์ และเป็นเสมือนการระลึกถึงและเชิดชูพระเกียรติการครบรอบปีที่รับบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีอีกด้วย

พระราชพิธีฉัตรมงคลทำอะไรบ้าง

พระราชพิธีฉัตรมงคลจะมีการจัดสมโภชเครื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวัง ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน โดยเจ้าพนักงานจะต้องอัญเชิญมาประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร จากนั้นจะมีการอ่านประกาศพระพราชพิธี พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็นตามลำดับ 

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถทางด้านการศึกษา การทหาร กีฬา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอื่นๆ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆมากมาย มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เริ่มตั้งแต่การเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่างๆ ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ และทุกข์สุขของราษฎร เพื่อเรียนรู้แนวทางการพระราชทานความช่วยเหลือ ทั้งการพัฒนาอาชีพ พัฒนาแหล่งน้ำ และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เราจึงได้รวบรวบ 10 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของในหลวง ร.10 ในด้านต่างๆ มาให้ชมกัน ดังนี้

 

1. ด้านการศึกษา


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา

 

2. ด้านการแพทย์และสาธารณสุข


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย

 

3. ด้านสังคมสงเคราะห์


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด

 

4. ด้านการต่างประเทศ


ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน

 

5. ด้านเกษตรกรรม


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่น ๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2528 นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล

 

6. ด้านพระศาสนา


ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ

 

7. ด้านการกีฬา


ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดงานกิจกรรมปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” ในงาน “อุ่น ไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ทรงพระราชทานเสื้อสำหรับใส่ปั่นจักรยาน และน้ำดื่มพระราชทาน ให้กับประชาชนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม และทรงนำประชาชนปั่นจักรยาน “Bike อุ่นไอรัก” เส้นทางพระลานพระราชวังดุสิต – สวนสุขภาพลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ รวมระยะทางไปกลับ 39 กม. กำหนดจัดขึ้นเวลา 15.00 น. ในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 โดยกิจกรรมนี้พระราชานุญาตให้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน อีกทั้งผู้ที่ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานยังแสดงให้เห็นการรวมพลังความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ และเห็นความสำคัญในการออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์

 

8. ด้านการทหาร


ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ

 

9. ด้านการบิน


พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร)

 

10. ด้านราชการ


9 มกราคม พ.ศ. 2535 – ปัจจุบัน ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัย สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ เป็นส่วนราชการในพระองค์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *